วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

บทที่ 2 แหล่งข้อมูลน่ารู้


🌷แหล่งข้อมูล🌷
                    1. ความหมายของแหล่งข้อมูล
                                แหล่งข้อมูลเป็นแหล่งที่ให้รายละเอียดต่างๆ ของข้อมูล อาจเป็นสถานที่ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ อาจเป็นบุคคล เช่น ครู คุณหมอ นักวิทยาศาสตร์ หรืออาจเป็นสิ่งต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น


                    2. ประเภทของแหล่งข้อมูล
                         แหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการค้นหาข้อมูล ควรเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์ มีเหตุผล และมีการอ้างอิง เช่น การสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรง และศึกษาในเรื่องนั้นๆ การค้นคว้าหรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการ เป็นต้น
               แหล่งข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
                    1) แหล่งข้อมูลชั้นต้น เป็นแหล่งข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวม หรือการเก็บบันทึกจากแหล่งข้อมูลโดยตรง เช่น การสอบถามหรือสัมภาษณ์เจ้าของข้อมูลโดยตรง การเดินทางไปดูสถานที่จริง แล้วบันทึกข้อมูลไว้เป็นต้น

               2) แหล่งข้อมูลชั้นรอง เป็นแหล่งข้อมูลที่ได้จากการอ่าน เช่น หนังสือเรียน หนังสือพิมพ์ ได้จากการฟัง เช่น วิทยุ เป็นต้น หรือได้จากการดูข้อมูลที่มีผู้รวบรวมหรือบันทึกไว้แล้ว เช่น รายการสารคดีของสถานีโทรทัศน์ นิทรรศการต่างๆ เป็นต้น


                  3. แหล่งข้อมูลที่อยู่ใกล้ตัว
                           ในชีวิตประจำวันของเรา สามารถหาข้อมูลต่างๆ ได้จากแหล่งข้อมูลที่อยู่ใกล้ตัว ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1) แหล่งข้อมูลที่เป็นบุคคล เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน คุณครู เป็นต้น ซึ่งการรับรู้ข้อมูลที่เป็นบุคคลจะใช้วิธีการสอบถาม และการฟัง
                  2) แหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่บุคคล อาจเป็นเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม เป็นต้น สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น


🐹🐹🐹🐹🐹🐹🐹🐹🐹🐹

🍆การรวบรวมข้อมูล🍆
                      การรวบรวมข้อมูล เป็นการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาเก็บรวบรวมไว้ ซึ่งทำได้โดยการสอบถาม การสังเกต หรือการอ่านจากข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้แล้ว


                         1. วิธีรวบรวมข้อมูล
                              การรวบรวมข้อมูล มีวิธีการ ดังนี้
                                       1) การรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม เป็นการพูดคุย ระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย อย่างมีจุดหมาย โดยฝ่ายที่ต้องการทราบข้อมูลเป็นผู้ถาม ผู้ให้ข้อมูลเป็นฝ่ายตอบ แล้วผู้ถามก็จะจดบันทึกข้อมูลที่ได้


                                              วิธีการสอบถามข้อมูล ผู้ถามควรปฏิบัติตนดังนี้
                                                           (1) พูดให้ชัดเจน ใช้ถ้อยคำสุภาพ
                                                           (2) ตั้งคำถามให้น่าสนใจ และถามให้ตรงประเด็น
                                                           (3) จดบันทึกคำตอบที่ได้ให้ครบถ้วน
                                         2) การรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต เป็นการศึกษาให้ทราบถึงลักษณะของ คน สัตว์ พืช สถานที่ หรือสิ่งต่างๆ ที่ต้องการทราบข้อมูล แล้วจดบันทึกข้อมูลที่สังเกตได้
                                               การสังเกตสิ่งต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล ผู้สังเกตุควรปฏิบัติตนดังนี้
                                                         (1) ตั้งใจสังเกตุโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน และชัดเจนว่าจะ
                                                              สังเกตอะไรบ้าง
                                                         (2) จดบันทึกข้อมูลรายละเอียดต่างๆที่พบเห็นในระหว่างการ
                                                              สังเกต เพื่อป้องกันการลืม


                                             3) การรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการอ่านข้อมูลจากหนังสือ บทความ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ และดูข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หรือโทรทัศน์ แล้วจดบันทึกข้อมูลที่ได้


                         ในการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ควรปฏิบัติตนดังนี้
                                      (1) ตั้งใจอ่านหรือดู
                                      (2) จดบันทึกรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงไว้ และเขียนบอกแหล่งที่มาของ
                                            ข้อมูล
                           2. การจัดการข้อมูลที่รวบรวมได้
                                       เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ควรจัดการข้อมูลที่ได้ ดังนี้
                                          1) ตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล
                                          2) จำแนกข้อมูลเป็นหมวดหมู่
                                          3) จัดเก็บข้อมูลเป็นหมวดหมู่และเป็นระเบียบ เพื่อให้สะดวกในการหยิบใช้งาน เช่น จัดเก็บใส่แฟ้มเอกสาร เก็บในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น เก็บในแฟลชไดรฟ์ เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นต้น
                                          4) นำเสนอข้อมูล เช่น การนำเสนอข้อมูลหน้าชั้นเรียน การทำรายงาน การจัดป้ายนิเทศ เป็นต้น


🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬🍬

🍒ประโยชน์ของแหล่งข้อมูล🍒
                        แหล่งข้อมูลต่างๆ มีประโยชน์ดังนี้
                                       1) ใช้เป็นแหล่งในการค้นคว้าหาข้อมูล ทั้งที่เป็นความรู้ และความบันเทิง เช่น อ่านหังสือพิมพ์เพื่อให้ทราบข่าวสารที่เป็นปัจจุบัน สอบถามข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวจากคุณพ่อ เป็นต้น
                                       2) ใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงเรื่องต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูล
                                       3) ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนที่เหมาะสม เช่น การดูใบเสร็จรับเงินค่าโทรศัพท์แล้วลดการใช้โทรศัพท์ลงเพื่อลดรายจ่าย เป็นต้น

🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉🍉

🌻การรักษาแหล่งข้อมูล🌻
                      การรักษาแหล่งข้อมูล เป็นการรักษาสภาพของแหล่งข้อมูลให้คงอยู่ในสภาพดี ซึ่งปฏิบัติได้ดังนี้
                                      1) ไม่ขีดเขียนตามสิ่งของหรือสถานที่ต่างๆที่เป็นแหล่งข้อมูล แต่ควรช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่นการไม่ทิ้งขยะ การปัดฝุ่นทำความสะอาด เป็นต้น


                                      2) ปฏิบัติตามกฏระเบียบของการใช้แหล่งข้อมูลที่กำหนด เช่น ไม่นำขนมหรือน้ำวางไว้ใกล้คอมพิวเตอร์ เพราะอาหารหรือน้ำอาจหกเลอะเทอะ และทำความเสียหายแก่คอมพิวเตอร์ได้ เป็นต้น


                                    3) ไม่ทำให้แหล่งข้อมูลเกิดชำรุดเสียหาย เช่น ไม่ฉีกหนังสือ ไม่ทำลายป้ายประกาศต่างๆ เป็นต้น และเราควรซ่อมแซมแหล่งข้อมูลที่ชำรุด เช่นซ่อมแซมหนังสือที่ขาด เป็นต้น


🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦🐦

...............................................................................................................................
ที่มา: ผกามาศ บุญเผือก.//หนังสือเรียน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2.//เล่มที่ 1.//ครั้งที่ 3.//บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด.



7 ความคิดเห็น:

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ป.2